ทางแก้เมื่อเมืองหลวงจมน้ำ: ย้าย หรือขยายหัวเมือง?

By Wanida Supaporn

แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะไม่ใช่จังหวัดเดียวที่ประสบเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ผ่านมา แต่ยังรวมถึงอีกกว่า 50 จังหวัดตั้งแต่ภาคเหนือตอนบนไล่จนมาถึงที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำลด คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นเฉพาะกับ’กรุงเทพมหานคร’ ไม่ใช่ในจังหวัดอื่นใด คือคำถามที่ว่า ‘ถึงเวลาที่เราต้องย้ายเมืองหลวงแล้วหรือยัง’

มีข้อโต้แย้งมากมายเพื่อมาสนับสนุนว่าควรหรือไม่ควรที่ประเทศไทยจะมองหาเมืองหลวงแห่งใหม่ ที่ไม่ใช่จังหวัดอันมีกายภาพสุ่มเสี่ยงต่อภาวะอุทกภัยอย่างเช่นกรุงเทพมหานครแห่งนี้ เห็นได้ชัดว่าประเด็นเรื่องที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่า เราอยู่ภายใต้สภาวะโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

 

1. ย้าย เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

 

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ในอนาคตไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2020 เอเชียจะเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ระดับ ‘มหานคร’ ถึง 25 เมือง ส่วนใหญ่ของเมืองเหล่านี้จะอยู่ใกล้ชายฝั่ง เสี่ยงต่อทั้งน้ำท่วมจากภาวะฝนฟ้าพายุ และภาวะการจมอยู่ใต้น้ำเพราะน้ำทะเลสูงขึ้น (คอลัมน์ เทศมองไทย, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 2-8 ธันวาคม 2554)

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดการย้ายเมืองเป็นทางออก  “ผมพูดมานานแล้วว่ากทม.จะถูกน้ำทะเลท่วม มันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างที่เขตบางขุนเทียน ในขณะนี้เราสูญเสียแผ่นดินไปหลายกิโลเมตร และถ้าหากน้ำทะเลขึ้นสูงถึง 7 ม.เมื่อไหร่ กทม. นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี (บางพื้นที่) และลพบุรี (บางพื้นที่) เจอแน่ และไม่ต้องรอหลายปี เพราะปีหน้าจะมีน้ำจากทางเหนือมามากขึ้น เพราะภาวะโลกร้อน น้ำทะเลระเหย น้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกเหนือไหลลงสู่ทะเล”  (หน้า 16,มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2554)

ด้วยเหตุนี้ ดร.อาจองจึงเสนอพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการย้ายเมืองหลวง โดยให้หา”…พื้นที่ที่จะรอดพ้นภาวะน้ำท่วม ซึ่งคงจะต้องมีความสูงประมาณ 100 ม.จากระดับน้ำทะเล และไม่มีรอยเลื่อนของเปลือกโลก ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ทางภาคเหนือ เพราะมีรอยเลื่อนมาก  

 พื้นที่ที่ไม่มีรอยเลื่อน คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนเหนือ และจังหวัดทางภาคใต้ อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และที่สำคัญที่สุดจะต้องเลือกจังหวัดที่ไม่มีแผ่นดินไหวด้วย…”

อีกประการหนึ่ง สาเหตุที่ที่ตั้งของกรุงเทพมหานครเสี่ยงต่อการจมน้ำทะเลนั้น แท้จริงแล้วอาจมาจากพื้นฐานที่กรุงเทพมหานครถูกวางเป็นเมืองเกษตรกรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ตั้งซึ่งใกล้ชิดน้ำ นอกจากเล็งผลในการเพาะปลูกให้อุดมสมบูรณ์แล้ว ยังส่งผลดีต่อการเป็นเมืองท่า เมืองค้าขาย แต่อาจจะไม่เหมาะต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็น global city อย่างทุกวันนี้

“…เราเป็นเมืองเกษตรกรรม ใช้ลำน้ำเป็นหลัก แต่เมืองแบบตะวันตกที่ใช้เป็นฐานรับ urbanisation ทำให้เค้าอยู่ที่ flat ไม่ได้ เค้าต้องเลือกที่ใหม่ เพราะงั้นเวลาอังกฤษเข้ามาพม่าเค้าถึงไม่เลือกที่ flat ริมน้ำอย่างหงสาวดี หรือมัณฑะเลย์ แต่ย้ายไปย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองสูง มีพระธาตุอยู่…” (รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม, รายการที่นี่ TPBS, วันที่ 1 ธ.ค. 2554 )

แม้ว่าสุดท้าย พม่าก็ย้ายเมืองหลวงอีกอยู่ดี แต่รศ.ศรีศักร เห็นว่า หากเมืองหลวงจะก้าวไปสู่ urbanisation ไม่ควรตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เพราะโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ลงทุนไว้จะเสียหายหมด (สัมภาษณ์ในรายการเดียวกัน)

 

2. ไม่ต้องย้าย แต่ขยายในบางส่วน

 

การย้ายเมืองหลวง ไม่ง่ายเหมือนการอพยพออกจากบ้านที่น้ำท่วม   ‘ความผูกพัน’ ของผู้คนต่อมหานครอายุสองร้อยกว่าปีนี้ ยากที่จะสร้างใหม่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย

“เมืองไม่ใช่ส้วม คิดจะย้ายก็ย้าย ทุกข์มาก็จะหนี ชีวิตเราตอนนี้ถูกผูกติดกับภูมิประเทศของเมือง มหานครแบบนี้เสียแล้ว…”

“คุณต้องคิดให้รอบคอบ ให้เจอคำว่า ‘ทำไม’ ให้ชัดเจนก่อนจะบอกว่า ‘ย้าย”

“…ที่เราเจ็บปวดไม่ใช่เพราะเราบริสุทธิ์นะ แต่เพราะเมืองนี้ เราตั้งถิ่นฐานกันเฮงซวยเองด้วย ถึงได้โดนและเจ็บกันขนาดนี้ ไม่ใช่ว่าเจ็บแล้วจะทิ้งไปเลย แต่ควรหันมาดูว่า เราไปทำอะไรเข้า…

ทั้งหมดเป็นความเห็นจากอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ (รายการที่นี่ TPBS, วันที่ 1 ธ.ค. 2554 )  ซึ่งมองว่าการย้ายเมืองหลวงอาจจะไม่จำเป็น เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็ยังสามารถอยู่ในกรุงเทพมหานครได้ ปัญหาหลักอยู่ที่พื้นที่บริเวณชานเมือง โดยเฉพาะโซนที่ถูกออกแบบให้เป็น ‘ฟลัดเวย์’ แต่กลายมาเป็นหมู่บ้านจัดสรร และโรงงานอุตสาหกรรม เหล่านี้ต่างหากที่ควรจะถูกชำระสะสาง ไม่ใช่เมืองหลวงทั้งหมด 

หรือไม่เช่นนั้น ‘ย้ายเมืองหลวง’ ก็อาจทำได้โดยการย้ายเฉพาะศูนย์กลางอำนาจ หรือพื้นที่เศรษฐกิจบางส่วนไปอยู่เมืองใหม่ (โดยไม่จำเป็นต้องย้ายทั้งกรุงเทพมหานคร)ก็เป็นได้ แนวคิดนี้ที่จริงควรเรียกว่า ‘ขยาย’ หัวเมืองต่าง ๆ มากกว่า อย่างเช่นที่ รศ.ศรีศักร เสนอในรายการว่า “กทม.ก็อยู่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ไป หน่วยงานราชการก็ยังอยู่กทม.ได้ แต่เคลียร์พื้นที่เศรษฐกิจออกไป อาจจะเรียกว่า ‘สร้างเมืองใหม่ …เช่นไปสร้างที่สัตหีบ เพราะมันอยู่ใกล้อู่ตะเภา”

แนวคิดนี้ สอดคล้องกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่เสนอให้เมืองในเอเชียซึ่งต้องรับความเสี่ยงจากสภาวะโลกร้อน ลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการพัฒนาออกไปยังหัวเมืองรอง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมหาศาลเมื่อเกิดหายนภัยตามมา (คอลัมน์ เทศมองไทย, ฉบับเดิม)

ที่ไม่ต้องรอนโยบายจากนักการเมือง แต่แวดวงอสังหาริมทรัพย์ก็มีแนวโน้มขยายออกสู่ต่างจังหวัด ในฐานะบ้านหลังที่สองของคนกรุงเทพฯ แล้ว พื้นที่ในจังหวัดชลบุรี พัทยา เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วม ขณะเดียวกันก็มีสภาพแวดล้อมที่ถูกใจคนกรุง กำลังเติบโตทั้งในแง่การลงทุนบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ซึ่งในมุมของผู้ประกอบการก็ถือว่าเป็นการกระจายโครงการและลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยธรรมชาติ (คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 2-8 ธันวาคม 2554)

หากมองในมุมนี้ การ ‘ขยาย’ ไม่ใช่ ‘ย้าย’ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า แต่ท้ายสุดแล้ว ใครจะเป็นคนตอบได้ว่า กรุงเทพมหานครยังสมควรจะเป็นเมืองหลวงต่อไปอยู่อีกหรือไม่?

.

.

.

Leave a comment