กรุงเทพ…เมืองหนังสือโลก…ใช่หรอ???

กรุงเทพ…เมืองหนังสือโลก…ใช่หรอ???
By FIGHTO!!!

ครั้งแรกที่ได้ข่าวว่า กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2556 หลาย ๆ คนต่างมีเครื่องหมายคำถามขึ้นในหัว แล้วก็มีคำถามต่อว่า

“กรุงเทพนี่หรอ เมืองหนังสือโลก ทุกวันนี้ยังคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ 4 บรรทัดเอง”

“เอาอะไรมาวัดว่ากรุงเทพเป็นเมืองหนังสือโลก”

สารพัดคำถามสารพักข้อสงสัยที่มีต่อคำว่าเมืองหนังสือโลก ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่ากรุงเทพได้เป็นเมืองหนังสือโลกได้อย่างไร
Image

โครงการเมืองหนังสือโลกเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยคัดเลือกจากเมืองต่าง ๆ ที่ส่งแผนส่งเสริมการอ่านของเมืองตัวเองเข้าร่วมประกวดกัน โดยที่เกณฑ์พิจารณาไม่ได้มาจากว่าคนในเมืองนั้นๆปีนึงอ่านหนังสือกี่หน้า ซึ่งถ้าวัดโดยใช้เกณฑ์นี้กรุงเทพเราคงอีกนานกว่าจะได้ แต่กรุงเทพมหานครของเราชนะใจคณะกรรมการจากแนวทางการส่งเสริมการอ่านโดยตั้งเป้าไว้ว่าจากเดิมคนอ่านหนังสือเพียง 5 เล่มต่อปีต่อคน จะต้องเพิ่มเป็น 15 เล่มต่อปีต่อคน กรุงเทพมหานครจะมีพิพิธภัณฑ์เมืองและหอสมุดเมือง พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก 
Image

http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201304/24/15220addd.jpg

จากแนวทางที่กล่าวมาก็ดูสวยหรูอยู่หรอกทำโน่นทำนี่ดูดีสไตล์ไทยแลนด์ เริ่มกิจกรรมแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา จัดขึ้นบริเวณทางเดินลอยฟ้าตั้งแต่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครตลอดไปจนถึงเซ็นทรัลเวิร์ด มีงานเสาวนาเกี่ยวกับเมืองหนังสือโลก ร้านค้าขายหนังสือ กิจกรรมเชิญชวนต่าง ๆ มากมาย สร้างความสนใจและความวุ่นวายไม่ใช่น้อยทั้งจากคนที่เดินผ่านไปผ่านมา และจากบรรดาหน้าม้าของผู้จัดงาน

ประเด็นสำคัญของเมืองหนังสือโลกในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่กิจกรรมที่จัดขึ้น แต่อยู่ที่ปรากฏการณ์การอ่านหนังสือของไทยในปัจจุบันมีพัฒนาการอย่างไรมากกว่า เพราะจากการการตอบรับของการที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือโลกซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ฝ่ายที่ว่าดีให้ความเห็นว่า

“ช่วยกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นได้” 
“เป็นการเริ่มต้นที่ดีกับการพัฒนาคน”

ส่วนฝ่ายที่ว่าไม่ดี

“คนไม่อ่านทำยังไงก็ไม่อ่านหรอก”         
“อ่านในเนทสะดวกกว่าเยอะ”
“ดูไม่น่าใช่น่ะกรุงเทพกับเมืองหนังสือเนี่ย”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทย ทุกวันนี้คนไทยไม่ใช่อ่านหนังสือน้อยลง แต่กลับมากขึ้นด้วย เพียงแค่สื่อสำหรับการอ่านมีหลากหลายมากขึ้นจากเดิมที่มีเพียงตำราเป็นเล่ม ๆ อาจทำให้ดูน่าเบื่อไม่น่าอ่าน คนจึงหันไปอ่านจากสื่ออื่น ๆ ทั้งอินเตอร์เนทที่เดี๋ยวนี้สามารถเข้าถึงง่ายได้จากสมาร์ทโฟน แม้กระทั้งในเฟซบุ๊คก็จะมีหน้าแฟนเพจต่าง ๆ มาให้อ่านและเป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้ดีที่สุดด้วย พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปจากเวลาที่เร่งด่วน จึงต้องการความรวดเร็วนิยมอ่านอะไรเพียงสั้น ๆ เช่น พาดหัวข้อ สเตตัสเฟซบุ๊ค หรือที่นิยมคือ ขอสามคำ เป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก เพราะสั้นและเข้าใจง่าย คงไม่แปลกที่ค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยจะลดลง ถ้าวัดจากคนที่อ่านหนังสือเท่านั้นโดยไม่รวมกับสื่อประเภทอื่น

หากถามถึงห้องสมุดว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะสร้างเพิ่ม หลายคนคงมีประสบการณ์กับการไปห้องสมุด บางแห่งคนแทบจะไม่มี บางแห่งคนเข้าไปใช้บริการเยอะมากเหมือนว่าทุกคนจะเข้าไปอ่านหนังสือ แต่สุดท้ายห้องสมุดกลายสภาพเป็นตลาดเสียงดังจอแจ คนเข้ามาใช้เพื่อนั่งเล่น นั่งคุย นั่งทำงาน มากกว่าที่จะมาเพื่ออ่านหนังสือ แล้วสถานที่ไหนที่คนชอบอ่านหนังสือนอกจากห้องสมุด ภาพที่เห็นชินตาคือ ร้านกาแฟต่าง ๆ ที่จะมีนักอ่านหนังสือมากมากที่มีความชอบในการอ่านหนังสือไปจิบกาแฟไป บนรถไฟฟ้าเองนอกจากคนที่เล่นมือถือตลอดเวลาแล้วก็จะพบคนที่อ่านหนังสือระหว่างเดินทางโดยรถไฟฟ้าด้วย มีอีกสถานที่หนึ่งที่อาจจะลืมไปคือ ร้านเสริมสวย จากภาพในละครหรือไปกับคุณแม่ก็จะพบว่า คนที่นั่งทำผมก็จะอ่านหนังสือรอไปด้วย แม้ว่าจะเป็นนิตยสารแต่ก็เป็นสถานที่ที่คนได้เกิดกิจกรรมการอ่านขึ้นอีกแห่งหนึ่ง
Image

จะเห็นว่าแท้จริงแล้วคนไทยชอบการอ่านหนังสืออยู่ไม่ใช่น้อย แม้จะต่างกันที่ประเภทหนังสือ สื่อที่ใช้อ่าน หรือสถานที่ที่ใช้อ่าน คนก็เลือกอ่านในแบบที่ตนเองชอบ การที่จะกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือก็ควรจะศึกษาพฤติกรรมการอ่านหนังสือแต่ละประเภทว่าหนังสือประเภทนี้ผู้อ่านจะเป็นคนแบบไหน ต้องการพื้นที่แบบไหนเพื่ออ่านหนังสือประเภทนั้นหรือสื่อแบบไหนที่เหมาะสมสำหรับการอ่านหนังสือประเภทนั้น หลาย ๆ อย่างสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการอ่านได้มากขึ้นจากพฤติกรรมของผู้อ่านเองมากกว่าการมีห้องสมุดแบบเดิม ๆ งานขายหนังสือที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการลดราคา หรือการได้ชื่อว่าเป็นเมืองหนังสือโลก โดยที่ไม่รู้ว่านักอ่านหนังสือมีพฤติกรรมการอ่านอย่างไร

หากจะพัฒนาคนด้วยหนังสือ ก็ต้องรู้ก่อนว่าหนังสือนั้นช่วยพัฒนาความคิดอย่างไรบ้าง

 

 

อ้างอิง

  1. วิจารณ์หนัก! โฆษณา กรุงเทพเมืองหนังสือโลก แค่ถือหนังสือสร้างภาพ (2555) [Online]. Available: URL:  http://news.mthai.com/headline-news/174800.html
  2. “สุขุมพันธุ์” เปิดประชุมนานาชาติเมืองหนังสือโลกสร้างกรุงเทพฯ รักการอ่าน (2556) [Online]. Available: URL: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=860747
  3. กรุงเทพฯเมืองหนังสือโลก “รายงานวันจันทร์” –จากปีละ 5 เล่ม เป็นมหานครแห่งการอ่าน (2556) [Online]. Available: URL: http://www.thairath.co.th/content/region/340162
  4. กทม. เปิดพื้นที่การอ่าน 30 แห่ง ทั่วกรุง (2556) [Online]. Available: URL: http://203.155.220.230/info/news/detail/210954_06.asp
  5. UNESCO เผยคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยน้อยลง เหลือปีละแค่ 4 บรรทัด !!! (2556) [Online]. Available: URL: http://www.wegointer.com/2013/04/unesco-%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%89/

Leave a comment