ปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันการพัฒนาสังคมเมืองของกรุงเทพมหานคร จากอดีตสู่อนาคต
1 Infrastructure
โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ โรงพยาบาล ไฟฟ้า ประปา เพื่อเอื้อต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับชุมชน และประเทศ การทบทวนประวัติและพัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เข้าใจบทบาท ขีดความสามารถในการรองรับการพัฒนาของกรุงเทพมหานครในอนาคตและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
2 Housing
ที่อยู่อาศัย ในแง่กายภาพ เช่น ลักษณะที่อยู่อาศัย ที่ตั้ง และคุณภาพของบ้าน คอนโดมิเนียม ตึกแถว ชุมชนแออัด และที่อยู่อาศัยแบบอื่นๆ รวมถึงพัฒนาการที่อยู่อาศัยจากอดีตสู่ภาพในอนาคต ความสำคัญของที่อยู่อาศัยต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยและชุมชน (livelihood) รวมถึงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม คนมักจะห่วงบ้านมากกว่าชีวิตของตัวเอง ไม่ยอมอพยพในภาวะเสี่ยง
3 Economic
ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผลักดันการพัฒนาของเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต ในภาคส่วนต่างๆ เช่น อุตสาหากรรม การท่องเที่ยว ธุรกิจนอกระบบ และผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมเมือง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ การจ้างงาน การขาดงาน ค่าชดเชย ต่างๆ เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ
4 Health
สุขภาพทั้งกายและจิตใจ และการสาธาณสุขที่จำเป็นต่อการพัฒนาสังคมเมืองในปัจจุบันและอนาคต และความจำเป็นต่อการปรับตัวของการสาธารณสุขต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต
5 Consumption
การบริโภคทั้งสินค้าและบริการ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคที่ควบคู่กับการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ของการบริโภคและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเมือง รวมถึงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้อง เช่น การกักตุนสินค้า และการควบคุมราคาสินค้าในภาวะวิกฤติ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริโภคเพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต
6 Waste
ของเสียและระบบการจัดการของเสีย คือ ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร หรือวัตถุอันตรายอื่นๆ สำหรับภาคส่วนต่างๆ และในระดับครัวเรือน รวมถึงขีดความสามารถของการจัดการของเสียในปัจจุบัน และการพัฒนาระบบการจัดการของเสียในอนาคตที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการพัฒนาเมือง เช่น ของเสียที่จะมีปริมาณมากขึ้นเมื่อมีจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต การจัดการของเสียที่ส่งผลเสียทางสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วในปัจจุบันและผลกระทบที่อาจจะมากขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคต
7 Social Value
คุณค่าทางสังคม รวมถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม การอพยพย้ายถิ่น ความเป็นธรรมในสังคมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง และ กลุ่มคนเปลี่ยนแปลงสังคม กลุ่มช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่เกิดขึ้นส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาเมืองและโครงการต่างๆ ของภาครัฐ นำไปสู่หลักธรรมาภิบาล และบทบาทของภาคประชาชนในอนาคต่อการพัฒนาเมืองจะเป็นอย่างไร
8 Education
การศึกษา การให้ความรู้ การสื่อสารด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ และเพิ่มทุนมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเมืองและเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต
9 Design Innovation
นวัตกรรมการออกแบบ ภายใต้กรอบแนวความคิดที่เริ่มคำนึงถึงประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์เมือง (Urban Ecology) เช่น หลังคาเขียว สวนสาธารณะบำบัดน้ำ เพื่อการพัฒนาภูมิทัศน์เมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต
10 Land value
คุณค่าของที่ดิน รวมถึง ราคาและสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความเป็นธรรมของการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาที่ดินมีความสัมพันธ์โดยตรงกับรูปแบบการพัฒนาเมือง และประเด็นการพัฒนาอื่นๆ เช่น แนวโน้มการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และที่อยู่อาศัย